รีวิวอื่นๆ

เคล็ดลับบริหารเงินเดือนเทพ ๆ ตั้งแต่วัย 20 ไปจนเกษียณ

30 มิถุนายน 2560 เวลา 23:05 ผู้เข้าชม: 76
0
0
0

 วิธีบริหารเงินเดือนให้ได้ตามเป้า สำหรับคนทำงานทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัย 20 ปี, 30 ปี, 40 ปี และ 50 ปี ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ


          หลาย ๆ คนอาจจะคิดแค่ตั้งใจทำงานเพื่อชีวิตวันนี้เท่านั้น ซึ่งอาจลืมไปว่าชีวิตคนเราไม่ได้สั้นขนาดนั้น เพราะหลังจากทำงานก็ยังมีช่วงเกษียณอายุ ที่จะไม่มีรายได้ แต่ต้องใช้เงินดูแลรักษาตัวเองในวันที่แก่ตัวลง ดังนั้นหากอยากมีชีวิตที่ดียิ่งกว่า ก็ต้องรู้จักทำงาน เก็บเงิน และวางแผนชีวิตอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และที่สำคัญคือรู้จักอดออมเพื่ออนาคต โดยหากตอนนี้กำลังสับสนว่าควรจะจัดการชีวิตอย่างไรให้ลงตัว เราก็มีวิธีจัดการเงินเดือนในแต่ละช่วงวัยของคนทำงานมาฝากกันครับ

ผู้สนับสนุน

อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป


 - เริ่มวางแผนให้ชีวิต

          หลังจากก้าวเท้าออกจากรั้วมหาวิทยาลัยเพื่อหางานทำเป็นครั้งแรก ควรจะวางแผนให้กับชีวิตโดยการหางานที่ทำให้รู้สึกอยากออกจากบ้าน (ไปทำงาน) ในเช้าวันจันทร์ ซึ่งการหางานที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มจากทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อนว่า ตัวเองชอบและมีความสามารถ หรือถนัดทำงานด้านใดเป็นพิเศษ จากนั้นก็ค่อยส่งใบสมัครไปให้กับบริษัทที่มีงานตรงกับคุณสมบัติของตัวเอง 


 - ศึกษาแวดวงของสายงานให้ถี่ถ้วน

          สายงานเป็นตัวแบ่งจำนวนระหว่างชาย-หญิงได้ดีทีเดียว โดยจะพบผู้ชายในอาชีพวิศวกร วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการ มากกว่าผู้หญิง และส่วนใหญ่ก็มักจะมีรายได้ดีกว่า และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ดังนั้นหากเลือกสายงานที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง ก็อาจจะทำให้ได้รับเงินเดือนไม่คุ้มกับแรงกายแรงใจที่เสียไป พร้อมทั้งทำให้รู้สึกท้อใจได้ง่าย ๆ


 - ตอบรับโอกาสดี ๆ ที่เข้ามา

          หากมีบริษัทดี ๆ ยื่นโอกาสให้กับคุณเพื่อเปลี่ยนงาน ก็ควรจะตอบรับไปโดยเร็ว พร้อมกับคิดเอาไว้ด้วยว่า มีแผนสำหรับพัฒนา หรืออยากให้อะไรกับบริษัทใหม่บ้าง ถึงแม้ว่าบริษัทเก่าสัญญาว่าจะเลื่อนตำแหน่งหรือขึ้นเงินเดือนให้ เพราะเอาเข้าจริงอาจไม่เป็นตามที่พูด และอาจทำให้เพื่อนในที่ทำงานมองคุณด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป แถมยังเสี่ยงต่อการมีปัญหามากกว่าเดิมอีกต่างหาก


 - อดออมเท่าที่ทำได้

          แม้ในปีแรกของการทำงานจะทำให้รู้สึกตื่นเต้นไปกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากมาย เพราะมีชีวิตที่อิสระมากขึ้น ไม่มีพ่อ-แม่คอยดูแลเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ไม่ควรเพลิดเพลินไปกับการเที่ยวเล่นจนเกินไปนัก เพราะควรจะเก็บเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้หลังเกษียณ และมีเงินสำรองประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีที่ตกงานหรือเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ซึ่งหากถึงเวลานั้นจริง ๆ จะทำให้คุณอุ่นใจและดีใจมากทีเดียว ที่รู้จักอดออมสำหรับชีวิตในอนาคตไว้บ้าง

อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป


 - มองหาโอกาสให้กับตัวเอง

          ไม่ว่าคุณจะได้ทำงานที่ชอบและทำมานานแค่ไหนแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้ตัวเอง โดยการออกไปสัมภาษณ์กับบริษัทอื่น ๆ บ้าง อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อปี เพื่อเช็กศักยภาพของตัวเองว่า เป็นที่ต้องการของตลาดมากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับตัวเองไปในตัว โดยเฉพาะคนที่ทำงานในบริษัทเดิมติดต่อกันตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป


 - รับอาสาทำงานอื่น ๆ นอกเหนือหน้าที่

          หากคุณอยากให้บริษัทจ่ายเงินเดือนมากขึ้น ควรจะแสดงให้พวกเขาเห็นว่า คุณพร้อมและเหมาะสมกับมันแล้ว โดยการอาสาทำงานในโปรเจคท์ใหม่ หรืองานอื่น ๆ ที่แตกต่าง และไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวเองบ้าง เพราะไม่มีเจ้านายคนไหนเลื่อนตำแหน่งให้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผลงานอะไรเลย แต่ทั้งนี้ก่อนจะตกปากรับคำอะไรไป ก็ควรดูความพร้อมและความสามารถของตัวเองด้วย


 - ไม่ควรลาออกจากงาน

          มีผู้หญิงหลายคนที่มักจะลาออกและไม่ได้ทำงานต่อ เมื่อย่างเข้าสู่การทำงานปีที่ 5 หรือปีที่ 7 เพราะอยากให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ ทั้งที่จริงแล้วควรจะเดินหน้าต่อถึงแม้จะมีลูกก็ตาม โดยการจัดสมดุลเวลาระหว่างชีวิตส่วนตัวกับหน้าที่การงานให้ได้มากกว่า เช่น ทำงานพาร์ทไทม์ ฟรีแลนซ์ หรือเป็นที่ปรึกษาแทน เพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองอยู่เสมอ พร้อมทั้งเป็นการรักษาสังคมกับเพื่อน ๆ เอาไว้ด้วย


 - จัดการเรื่องหนี้สินให้หมด

          หากคุณเป็นหนี้สิน ทั้งเงินกู้ กยศ. เครดิตการ์ด หรืออื่น ๆ และมีเงินเดือนมากพอที่จะชำระ ก็ไม่ควรเลือกจ่ายแบบขั้นต่ำ และเป็นหนี้ต่อไปอีกหลายปี เพราะสิ่งที่คนในวัยนี้ควรทำก็คือ หาทางชำระหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ให้หมดไปโดยเร็ว และเริ่มออมเงินให้มากขึ้น เอาไว้ใช้หลังเกษียณ และเป็นทุนการศึกษาให้กับลูก ๆ


 - ไม่นำเงินออมออกมาใช้จ่าย

          หากตอนนี้สามารถหาเงินได้มากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน ก็หมายความว่าควรจะเพิ่มเงินออมด้วย อย่างน้อยประมาณ 15% ของรายรับ และไม่ควรนำเงินก้อนนั้นออกมาใช้ เพื่อความสบายในวัยเกษียณ แทนที่จะใช้ชีวิตในปัจจุบันอย่างหรูหรา แล้วต้องตกระกำลำบากตอนวัยชรา แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่จะซื้อด้วยว่า เป็นของจำเป็นและเหมาะสมกับสถานะการเงินหรือไม่

อายุตั้งแต่ 40 และ 50 ปีขึ้นไป


 - ควบคุมการใช้จ่าย

          ตามปกติแล้วเมื่อมีเงินเดือนมากขึ้น ก็มักจะใช้จ่ายไปกับของที่แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งไม่ว่าตอนนี้คุณจะมีรายได้มากขึ้นหรือเท่าเดิมก็ตาม ควรพยายามควบคุมรายจ่ายให้ได้ เริ่มจากตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยเฉพาะเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง และรู้จักเลือกใช้ของให้มากขึ้น ที่สำคัญยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไรก็จะเป็นประโยชน์กับตัวคุณมากขึ้นเท่านั้น


 - ให้ความสำคัญกับชีวิตวัยเกษียณมากขึ้น

          ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นก็เลยทำให้ใครหลาย ๆ คนเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จนทำให้มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ ทั้งที่จริงแล้วควรเก็บออมให้ได้ 15-20% ของรายรับแล้ว หรือมากกว่านี้หากสามารถทำได้ และจะดียิ่งกว่าถ้าเก็บเงินออมได้ถึง 25% เอาไว้ใช้สำหรับวัยเกษียณ เหตุฉุกเฉิน และเป็นเงินออมทั่วไป


 - ชำระหนี้ค่าผ่อนบ้านให้หมด

          สิ่งสำคัญสิ่งสุดท้ายที่คนในวัยนี้ควรจัดการคือ ชำระหนี้ผ่อนบ้านให้หมด ก่อนเข้าสู่วัยเกษียณเต็มตัว เช่น เปลี่ยนจากชำระหนี้เดือนละครั้ง เป็น 2 ครั้งต่อเดือน หรือยอมจ่ายหนี้ที่ค้างชำระอยู่ต่อเดือนให้มากขึ้น เพื่อทำให้หนี้กลายเป็นศูนย์ก่อนถึงกำหนด จะได้ไม่มีภาระให้หนักใจเมื่อไม่มีรายได้แล้ว


  แม้ว่าความสุขในปัจจุบันจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่าลืมมองและวางแผนไปถึงอนาคตด้วย เพราะเราไม่ได้มีชีวิตแค่วันนี้พรุ่งนี้ และคงไม่ดีนักหากต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในวัยเกษียณ หลังจากไม่มีรายได้จากงานประจำ หรือมีเงินเก็บน้อยเกินไปจนไม่พอใช้


ขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com

แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้

คอมเม้น

0 คอมเม้น

กฎการรีวิว

People who love what they do help
you get everything done at an
unbeatable value.

รีวิวโดยทีมงาน RP

What do you do best? Create your
Gig and start selling. It’s free, and
only takes 5 minutes.

ร่วมกิจกรรม

Your safety is our top priority. Secure
transactions and our safety team
protect you at all times.
เข้าสู่
ระบบ
เขียน
รีวิว
รีวิว
อัพเดท
Top 10
รีวิว
TOP
ติดต่อทีมงานเพื่อ
แนะนำรีวิวน่าสนใจ