Review By RP

มารู้จัก.... เรือกอและ ตามมาดูกัน.....?

โดย: Review Promote
22 พฤษภาคม 2563 เวลา 15:09 ผู้เข้าชม: 5,552
0
0
0

สำหรับภาคใต้ทางตอนล่างอย่าง ปัตตานี นราธิวาส และในบางพื้นที่ของสงขลา นครศรีธรรมราช ไล่ไปจนถึงแหลมมลายู จะมีเรือประมงพื้นบ้านสำคัญนาม “กอและ” ที่เป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์อันงดงามวิจิตร จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีความงามแห่งท้องทะเลในดินแดนปลายด้ามขวานของเมืองไทย

รู้จักเรือกอและ 


“กอและ เป็นเรือที่โต้คลื่นลมทะเลได้ดี”


อ.สมมาตร ดารามั่น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองนราธิวาสให้ข้อมูลกับผม พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “กอและ” มาจากคำว่า “ฆอและ” ที่มาจากภาษามลายูว่า “Kolek”(โกเล็ก) หมายถึงโคลงเคลง หรือล่องลอย 


เรือกอและถือกำเนิดขึ้นในสยามประเทศตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ในข้อมูลหลายแห่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย(บ้างก็ว่ามีมาก่อนยุคสุโขทัย) ซึ่งเข้ามาพร้อมๆกับการเผยแผ่ศาสนาอิสลามและการเข้ามาตั้งรกรากของชาวมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างของไทย ก่อนจะสั่งสมภูมิปัญญาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยแหล่งกำเนิดและสร้างสรรค์เรือกอและในภาคใต้ที่ยิ่งใหญ่ในอดีต คือที่บ้านตำบลปะเสยยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

กอและเป็นเรือที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการสู้คลื่นลมแรงและสูงได้ดี คว่ำยาก เพราะมีแคมเรือลึก ในอดีตเป็นเรือหาปลาที่มุ่งออกทะเลลึกโดยอาศัยการกางใบ นับเป็นหนึ่งในสุดยอดความงามแห่งนาวาศิลป์ แต่หลังจากมีเครื่องยนต์เข้ามา ชาวประมงก็เปลี่ยนมาใช้เรือกอและติดเครื่องยนต์แทนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว คล่องตัว 


เรือกอและมี 2 แบบ คือ กอและ “หัวยาว” กับกอและ “หัวสั้น” แต่ว่าในตอนหลังเรือกอและหัวยาวที่ทำให้หัวเชิดยาวขึ้นไม่เป็นที่นิยม จึงไม่ค่อยมีคนผลิต เรือกอและหัวยาวจึงหลงเหลืออยู่น้อยและหาดูได้ยากเต็มที


นอกจากนี้ยังมีเรืออีกประเภทหนึ่งซึ่ง อ.สมมาตรบอกกับผมว่า ไม่ใช่เรือกอและแท้ แต่เป็น “เรือท้ายตัด” ที่ถูกนำมาเขียนลวดลายแบบเรือกอและ 


“เรือหัวตัดจะสะดวกในการวางเครื่องยนต์ แต่จะวิ่งสู้คลื่นได้ไม่ดีเหมือนเรือกอและ(แท้ๆ) ทำให้ในช่วงหน้าฝน ช่วงมรสุม เรือกอและจะออกทะเลได้ไกลกว่า ดีกว่า ส่วนเรือท้ายตัดจะออกทะเลไกลๆที่มีคลื่นลมแรงลำบาก” อ.สมมาตร์อธิบาย 


อย่างไรก็ดีเหตุของการเข้าใจผิดของใครหลายๆคนที่คิดว่าเรือท้ายตัดเป็นเรือกอและแท้ๆนั้น อ.สมมาตร์ได้บอกว่าเนื่องมาจากภาพโปรโมทการท่องเที่ยวที่ถูกเผยแพร่ไปผิดๆ (อาจจะเพราะเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์) จากบางหน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยวของประเทศนี้ จนกลายเป็นภาพติดตาว่าเรือท้ายตัดคือเรือกอและ


อย่างไรก็ดีในเอกสารนำเที่ยว จ.นราธิวาส ของ ททท. ปกล่าสุด(ปี 2555) ได้นำภาพเรือกอและแท้(หัวสั้น) มาขึ้นปกสื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมอันโดดเด่นของชาวนรา พร้อมกับบอกกำกับไว้ในปกหลังชัดเจนว่า คือ “เรือกอและ นราธิวาส” แต่ขณะที่ในแผนที่เที่ยว 3 จังหวัดชายแดนใต้ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา(ภาษาไทย-อังกฤษ) ของ ททท.อีกเช่นกัน ก็ได้นำรูปเรือท้ายตัดมาขึ้นปกโดยไม่มีคำกำกับ ซึ่งก็ทำให้ใครหลายๆคนเข้าใจผิดว่านี่คือเรือกอและ 


เพราะเมื่อนึกถึงเรือที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่างดินแดนปลายด้ามขวาน คนส่วนใหญ่ต่างนึกถึง “เรือกอและ”

ผู้สนับสนุน

กอและบางนรา


ด้วยความผูกพันที่มีต่อเรือกอและมาช้านาน ทำให้ชาวนรา จังหวัดนราธิวาส ชูเรือกอและ เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัด 


สำหรับแหล่งผลิตเรือกอและขึ้นชื่อในนรานั้นอยู่ที่หาดบ้านทอน หมู่บ้านทอน ต.โคกเคียน อ.เมือง ที่นี่เป็นแหล่งผลิตเรือกอและทั้งเรือจริงและเรือจำลองอันขึ้นชื่อแห่งบางนรา 


ที่หาดบ้านทอนจะมีการนำรูปเรือกอและจำลองมาตั้งแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ โดยตามชายหาดหากชาวประมงไม่ได้นำเรือออกเล เราก็จะเห็นเรือกอและจอดอยู่เรียงรายตามชายหาด และถ้าไปถูกช่วงจังหวัดเวลาก็จะได้เห็นเรือกอและออกจากฝั่ง หรือกลับเข้าฝั่ง ท่ามกลางเสียงตะโกนดีใจของเราเด็กๆ รอยยิ้มของแม่บ้าน ที่เฝ้ารอ พ่อ หรือญาติพี่น้องของพวกเขากลับเข้าฝั่งมาพร้อมกับกุ้งหอยปูปลา เพราะนั่นคือวิถีของคนเลแห่งบางนรา

นอกจากนี้ที่หาดบ้านกูบู ต.ไพรวัน อ.ตากใบ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ต่อเรือสำคัญของนราฯ เพราะที่นี่มีช่างต่อเรือกอและคนสำคัญแห่งบางนราอยู่นั่นก็คือ ช่าง“เจ๊ะมุ อูมา” ช่างต่อเรือกอและแท้ๆฝีมือดีที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในนราธิวาส


ลุงเจ๊ะมุ เป็นช่างต่อเรือระดับปรมาจารย์ แกทำเรือมากว่า 41 ปี โดยสืบทอดวิชาฝีมือมาจากอา ตั้งแต่อายุ 20 ปี มาจนถึงวันนี้ช่างเจ๊ะมุมีอายุ 61 ปี แล้ว 


“งานต่อเรือกอและนอกจากเป็นงานที่เหนื่อยหนักแล้ว ยังเป็นงานฝีมือต้องใช้ความพิถีพิถัน ละเอียดประณีต รวมถึงการฝึกฝนจนช่ำชอง แต่ถ้าเราทำจนชำนาญ ผู้คนยอมรับผลตอบแทนมันก็คุ้มกัน โดยค่าตอบแทนจะคิดตามขนาดของเรือ”

ช่างเจ๊ะมุ เล่าให้ผมฟัง ณ ริมชายหาดบ้านกูบู ระหว่างพักจากงานเก็บรายละเอียดเรือกอและลำโตที่ชื่อว่า “รายอกุนิง” ที่แปลเป็นไทยว่า “ราชาแห่งเรือ” เพราะมีขนาดลำใหญ่โต กว้าง 3 เมตร ยาว 12.5 เมตร (คนที่บ้านกูบูบอกว่าเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในนรา ณ ปัจจุบันนี้) ซึ่งหากประเมินคร่าวๆ ราคาเรือลำนี้จะตกอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท โดยช่างเจ๊ะมุบอกว่า เป็นค่าไม้ 2 แสน ค่าแรง 2 แสน และค่าเก็บรายละเอียดงานอีก 1 แสนบาท


ทั้งนี้เรือกอและในอดีตได้แบ่งขนาดของเรือไว้เป็น 4 ขนาด โดยยึดความยาวของเรือเป็นเกณฑ์ ได้แก่ ขนาดใหญ่-ยาว 25 ศอก ขนาดกลาง-ยาว 22 ศอก ขนาดเล็ก-ยาว 20 ศอก และขนาดเล็กสุดหรือที่เรียกว่า “ลูกเรือกอและ” ยาว 6 ศอก อย่างไรก็ดีมาในยุคนี้ช่างหลายคนก็ได้หันมาใช้มาตรวัดเป็นเมตร(ควบคู่ไปกับศอก)เพื่อความสะดวกในการทำงาน

สำหรับไม้ที่ใช้ในการทำเรือซึ่งเป็นขั้นตอนเริ่มแรกนั้น ช่างจะใช้ไม้เนื้อแข็งจากพื้นถิ่นที่มียางในไม้ จำพวก ไม้ตะเคียน(จืองา) ไม้พะยอม ไม้หลุมพอ เพราะไม้พวกนี้มีแข็งแรงความยืดหยุ่นดี โดยเรือ รายอกุนิงลำนี้ใช้ไม้ตะเคียนทรายที่ช่างบอกว่าผ่านขั้นตอนการซื้อมาอย่างถูกกฎหมาย 


เมื่อช่างได้ไม้ นำมาผ่านกระบวนการต่างๆเช่น ผึ่งแดด ไสแต่ง ดัดให้ไม้โค้งงอตามรูปแบบของเรือแล้ว จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการต่อเรือ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้าย 


เมื่อก่อร่างสร้างเรือขึ้นเป็นรูปร่างแล้ว ต่อมาก็เป็นกระบวนการเขียนลายสร้างความงามให้กับลำเรือ อันถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเรือกอและที่ต่างจากเรือประมงทั่วไป เพราะเป็นการผสมศาสตร์ในการต่อเรือเข้ากับงานศิลปะได้อย่างวิจิตรลงตัวสวยงาม โดยขั้นตอนการตกแต่งเขียนลาย ถือเป็นขั้นตอนท้ายๆก่อนที่เรือจะเสร็จสมบูรณ์แล้วนำไปทำพิธีลอยลำออกหาปลาสู้คลื่นลมในท้องทะเล

พูดถึงช่างเขียนลวดลายเรือกอและแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นคนละคนกับช่างต่อเรือ และก็ส่วนใหญ่ในช่างเขียนลายมักจะเป็นจิตรกรพื้นบ้านที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนศิลปะมาจากสถาบันใด หากแต่สืบทอดฝีมือจากบรรพบุรุษ ฝึกฝนจากครูผู้ถ่ายทอด โดยช่างเจ๊ะมุหลังต่อเรือเป็นรูปร่างแล้วก็จะใช้บริการเขียนลายโดย “ช่างมาหะมะ สะมะแอ” ซึ่งเป็นน้องชายต่างบิดาของช่างเจ๊ะมุนั่นเอง 


ช่างมาหะมะวาดลวดลายบนลำเรือมากว่า 40 ปี โดยเริ่มจากการฝึกหัดวาดลายไทย ก่อนจะพัฒนาฝีมือเรื่อยมา จนวันนี้ด้วยความเชี่ยวชาญชำนาญชนิดวาดกันสดๆบนลำเรือได้อย่างสวยงาม ไม่มีผิดเพี้ยน

ในส่วนขั้นตอนการเขียนลายนั้น จะเริ่มจากการลงสีน้ำมันรองพื้นให้ทั่วลำเรือก่อน จากนั้นก็เป็นการเขียนลายตามความช่ำชองของแต่ละคน ใครที่ชำนาญมากก็ใช้วิธีวาดสด แต่หลายคนเพื่อความแน่นอนก็จะใช้ดินสอร่างขึ้นรูปก่อนแล้วจึงลงสีตามภายหลัง 


สำหรับลวดลายที่นิยมใช้เขียนจะแบ่งเป็น ส่วนลายที่หัวเรือ นิยมเขียนเป็นรูปสัตว์ในตำนาน หรือสัตว์ในจินตนาการ เช่นพวก พญานาค นก หนุมานจับมัจฉา ราหูอมจันทร์ เมขลาล่อแก้ว รามสูรขว้างขวาน เป็นต้น ส่วนลายที่ท้ายเรือก็มักจะเป็นลายส่วนท่อนหางของสัตว์นั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีลายอื่นๆที่ประกอบไปตามหัวเรือ ท้ายเรือ ลำเรือ อาทิ ลายไทย ลายเครือเถา ลายดอกไม้ ลายพื้นบ้าน ลายแบบจีน ลายแบบมุสลิม ลายอาหรับรูปทรงเราขาคณิต

“เสน่ห์ของลวดลายเรือกอและแห่งนราธิวาสคือ จะเป็นการผสมผสานลายจาก 3 วัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ทั้งไทย จีน และมลายู รวมถึงลายดอกบานบุรี(สีเหลือง) ที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนราธิวาส” อ.สมมาตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 


ด้านช่างมาหะมะบอกว่า ลวดลายเรือขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของเรือ แต่เขาก็มีการสร้างสรรค์ลายที่แตกต่างออกไป เช่นนำลายจากผ้าปะเต๊ะมาวาดลงไป หรือมีการใส่ลายใหม่ๆร่วมสมัยลงไป อย่างเช่นปีนี้มีฟุตบอลโลก ช่างก็นำรูปถ้วยฟีฟ่ามาเขียนใส่ลงไป 


“แต่ถ้าเจ้าของเรือไม่มีลายในดวงใจ หรือไม่ได้ขอลายกับช่างวาด หรือเชื่อมั่นในฝีมือช่าง ผมก็จะวาดลายตามใจช่าง” ช่างมาหะมะกล่าว

และนั่นก็เป็นบางส่วนจากวิถีเรือกอและแห่งบางนรา ซึ่งเรือชนิดนี้หาใช่เรือประมงธรรมดาไม่ หากแต่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวานอีกด้วย 


นอกจากจะเป็นการตกผลึกทางภูมิปัญญามานับแต่บรรพบุรุษจนเกิดการสร้างสรรค์เป็นนาวาศิลป์ลำงดงามวิจิตรแล้ว กอและยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงวิถี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แห่งดินแดนปลายด้ามขวาน นับเป็นอีกหนึ่งแง่งามแห่งบางนราที่สวนทางกับบรรยากาศความไม่สงบที่คนจำนวนมากในประเทศนี้หวังให้มันจบลงโดยไว

พอสรุปได้ว่า เรือกอและ หมายถึงเรือประมงที่ใช้ใบในการขับเคลื่อนมีรูปพรรณสัณฐานเพียวลม ไม่ต้านลม แต่เป็นเรือที่อยู่ในอาการโคลงเคลงเมื่อลงในน้ำ เพราะมีลักษณะของท้องเรือที่อยู่ใต้น้ำกลม และกาบเรือจะผายออก จึงล่มยาก เมื่อถูกคลื่นลมจะโคลงเคลงเท่านั้น

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : mgronline


เป็นไงกันบ้างค่ะ สำหรับข้อมูลของเรือกอและที่เราได้นำมาฝากทุกคน สนุกกันมั้ยเอ่ย... 

ฝากติดตามเพจ ReviewPromote สามารถเข้าไปดูรีวิวและแชร์เก็บไว้นะคะ #กินเก่ง #เที่ยวเก่ง #ReviewPromote


มารู้จัก.... เรือกอและ ตามมาดูกัน.....?

รายละเอียดอยู่ในบทความ

คะแนนรีวิว:
ความน่าสนใจ:
สถานที่:
การเดินทาง:
ตั๋ว/บัตรเข้าชม:
คะแนนโดยรวม:

แชร์บอกให้เพื่อนคุณรู้

คอมเม้น

0 คอมเม้น
Other Review by Review Promote

กฎการรีวิว

People who love what they do help
you get everything done at an
unbeatable value.

รีวิวโดยทีมงาน RP

What do you do best? Create your
Gig and start selling. It’s free, and
only takes 5 minutes.

ร่วมกิจกรรม

Your safety is our top priority. Secure
transactions and our safety team
protect you at all times.
เข้าสู่
ระบบ
เขียน
รีวิว
รีวิว
อัพเดท
Top 10
รีวิว
TOP
ติดต่อทีมงานเพื่อ
แนะนำรีวิวน่าสนใจ